#๔๑/๑อภิธัมมาวตาราวตาร :
เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต :
การจำแนกกามาวจรกุศลจิตโดยประเภทแห่งเวทนาเป็นต้น
จิตดวงหนึ่งๆ
จะประกอบไปด้วยสัมปยุตธรรมกล่าวคือเจตสิกหลายประการเกิดร่วมกับตน บรรดาสัมปยุตธรรมเหล่านั้น
เวทนาเจตสิกและปัญญาเจตสิก พร้อมกับปัจจัยบางอย่างถูกยกมาเป็นชื่อของจิตให้จิตดวงหนึ่งมีความต่างกันจากจิตอีกดวงหนึ่ง
ดังนั้น เวทนาเป็นต้นจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องจำแนกจิตออกเป็น ๘ ดังนี้
๑. #จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่มีความกระตุ้นเตือน #ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๒. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
มีความกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๓. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
ไม่มีความกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๔. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
มีความกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยปัญญา ดวงหนึ่ง
๕. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
ไม่มีความกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๖. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
มีความกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๗. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
ไม่มีความกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๘. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
มีความกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณดวงหนึ่ง
(ดูข้อความทั้งหมดใน
#คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔)
บรรดาจิต ๘ ดวงเหล่านั้น
ชื่อจิตแต่ละดวงจะประกอบด้วย ๓ วรรค และใน ๓ วรรคนั้น
แต่ละดวงจะมีซ้ำกันเป็นบางวรรค ต่างกันเป็นบางวรรคกับอีกดวงหนึ่ง.
#เหตุที่ทำให้ชื่อของจิตประกอบด้วยข้อความเหล่านี้
สัมปยุตธรรมมากมายแม้จะเกิดร่วมกับจิตนี้
แต่อาศัยเวทนาเจตสิกเป็นเครื่องจำแนก เป็นเพราะว่าหากจะใช้ผัสสะเจตสิกเป็นต้นที่นับเป็นเจตสิกจำพวกสัพพจิตตสาธารณเจตสิก
ก็มิอาจจะจำแนกจิตออกได้เพราะจิตทุกดวงต่างก็มีผัสสะเป็นต้นทุกดวง
ไม่มีอะไรทำให้ต่างกันด้วยผัสสะนี้, หากจะใช้สัทธาเจตสิกเป็นต้น
ที่เป็นพวกสัพพกุสลสาธารณเจตสิก ก็เช่นกัน กุศลจิตทุกดวงไม่ว่าจะเป็นภูมิใด
ก็ต้องมีสัทธาเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องจำแนก. แต่เวทนาเจตสิกที่จำแนกเป็นโสมนัสเป็นต้นมีในจิตบางดวง,
และไม่มีในจิตบางดวงแตกต่างออกไปตามอำนาจของปัจจัยเฉพาะที่ทำให้ตนเกิด เพราะฉะนัน
การจำแนกด้วยเวทนามีโสมนัสเป็นต้นจึงเหมาะที่จะนำเป็นเครื่องจำแนก.
เมื่ออาศัยเวทนาคือโสมนัสมาเป็นเครื่องจำแนกแล้ว
จิตดวงนี้จึงได้ชื่อภายใต้ของการเกิดร่วมกับเวทนาว่า “โสมนัสสสหคตจิต”,
ถ้าใช้อุเบกขาเวทนา ก็มีชื่อว่า อุเบกขาสหคตจิต เป็นลำดับแรก
ในบางครั้งท่านใช้ชื่อเพียงเท่านี้เรียกจิต
ก็หมายเอา จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาทุกดวงไม่จำกัดเฉพาะกามาวจรกุศลจิต.
นอกจากจะใช้เวทนาเจตสิกมาจำแนกแล้ว
แม้ปัญญาเจตสิกก็เป็นเครื่องจำแนกจิตอีกประการหนึ่ง
โดยอาศัยความประกอบร่วมกับปัญญาที่ใช้คำว่า ญาณ นั้นแล้ว
หากจิตดวงใดประกอบด้วยปัญญา จิตดวงนั้น ก็ได้ชื่อว่า #ญาณสัมปยุตจิต แต่จิตดวงใดไม่สามารถมีปัญญาประกอบกับตนได้ในขณะนั้น
จิตดวงนั้น ก็ชื่อว่า ญาณวิปยุตจิต.
มิเพียงแต่จิตจะเกิดขึ้นร่วมกับสัมปยุตธรรมและปัจจัยอื่นๆมีอารมณ์และวัตถุเป็นต้นแล้ว
ยังมีปัจจัยอย่างอื่นมากระตุ้นให้เกิดความแกล้วกล้าอุตสาหะให้จิต
ปัจจัยเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ปโยคะ หมายถึง การกระตุ้นให้จิตมีความอุตสาหะ
นิยมเรียกว่า สังขาร. ดังนั้น ต่อไปนี้จะเรียกการกระตุ้นให้เกิดความอุตสาหะนั้นว่า
สังขาร ตามที่ท่านใช้ตั้งชื่อจิตทุกดวง. สังขารนี้มีทั้งเกิดด้วยการกระตุ้นของตนและผู้อื่น.
ความมีและไม่มีของสังขารนี้เองทำให้จิตดวงที่มีสังขารต่างจากดวงที่มีสังขาร ดังนั้น
อาศัยความมีและไม่มีของสังขาร จิตดวงที่ไม่มีสังขารจึงชื่อว่า อสังขาริกจิต และ จิตดวงที่ไม่มีสังขารจึง
ชื่อว่า สสังขาริกจิต.
ทั้งสามเหตุเหล่านี้ท่านสรุปเป็นแนวทางจำแนกโดยย่อเพื่อกำหนดจดจำว่า
โสมนัสุเปกขาเภทะ การจำแนกจิตโดยอาศัยโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา
ญาณเภทะ
การจำแนกจิตโดยอาศัยความมีและไม่มีแห่งปัญญา หรือญาณ
ปโยคเภทะ (สังขารเภทะ)
การจำแนกจิตโดยอาศัยความมีและไม่มีแห่งการกระตุ้นเตือนให้อุตสาหะ
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น