วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๑๖ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล

#๑๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล

ผู้ใคร่ครวญสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรศึกษาและเข้าถึงด้วย ๔ ส่วนที่ช่วยให้แจ่มแจ้ง

๑. ลักษณะ คือ สิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายใช้กำหนดจดจำ ใช้เป็นที่สังเกตสภาวธรรมที่ต้องการทราบ

๒. รส คือ กิจหรือหน้าที่ของสภาวธรรมนั้น

๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ เมื่อสภาวธรรมเหล่านี้ปรากฏ จะแสดงอาการของตนออกมา

๔. ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ หรือ เหตุพิเศษที่ไม่ใช่เหตุทั่วไปแก่สภาวธรรมเหล่าอื่น

เหตุ ๔ ประการเหล่านี้ มีชื่อเป็นที่รู้จักในหมู่บัณฑิตผู้ศึกษาพระอภิธรรมว่า “ลักขณาทิจตุกกะ” แปลเป็นภาษาไทยพอได้ใจความว่า “ส่วนที่ควรศึกษาของสภาวธรรม ๔ อย่าง มีลักษณะเป็นลำดับที่ ๑”

คัมภีร์อภิธัมมาวตาร นำลักขณาทิจตุกกะ ของธรรมฝ่ายกุสล มาแสดงไว้ให้ศึกษาเป็น ๒ นัย ดังนี้

ตสฺมา อนวชฺชอิฏฺฐวิปากลกฺขณํ กุสลํ, อกุสลวิทฺธํสนรสํ, โวทานปจฺจุปฏฺฐานํฯ
วชฺชปฏิปกฺขตฺตา อนวชฺชลกฺขณํ วา กุสลํ, โวทานภาวรสํ, อิฏฺฐวิปากปจฺจุปฏฺฐานํ, โยนิโสมนสิการปทฏฺฐานํฯ

ฉะนั้น เพราะเหตุที่คำศัพท์ว่า กุสล มีความหมายว่า กำจัดธรรมน่ารังเกียจคืออกุสล, ไม่มีโทษ และอำนวยผลที่น่ายินดี ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น (จึงสรุปได้ว่า) กุศล

๑) มีธรรมไม่มีโทษซึ่งมีผลที่น่ายินดีเป็นลักษณะ
๒) มีการทำลายอกุศลเป็นกิจ
๓) มีผลที่น่ายินดีเป็นอาการปรากฏ
๔) มีโยนิโสมนสิการ (ความใส่ใจในอุบายอันถูกทาง) เป็นเหตุใกล้

วันนี้ฝากให้ผู้ใคร่จะหยั่งลงสู่มหาสมุทรคือพระอภิธรรม โดยพ่วงแพที่ชื่อว่าอภิธัมมาวตารปกรณ์ ไปพิจารณาถึงลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ นี้ก่อน

คราวหน้าจะมาขยายความให้หายใจได้คล่องขึ้น


ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น