วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๑ : การจำแนกกามาวจรกุศลจิตโดยประเภทแห่งจิตชั้นต่ำเป็นต้น

#๔๑อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : การจำแนกกามาวจรกุศลจิตโดยประเภทแห่งจิตชั้นต่ำเป็นต้น

สภาวธรรมทั้งหลายที่มีการจำแนกได้ เมื่อถูกจำแนกก็จะเป็นอันงดงาม เปิดเผย แจ่มแจ้งและปรากฏต่อปัญญาญาณของผู้ติดตามศึกษา แม้กามาวจรกุศลจิต ก็อยู่ในฝ่ายธรรมที่มีการจำแนกนั้น เหตุนั้น จะได้ขยายความการแสดงจำแนกของกามาวจรกุศลจิตตามวิธีแห่งคัมภีร์อภิธัมมาวตาต่อจากคราวที่แล้ว.
นอกจากจำแนกโดยภูมิและวัตถุแล้ว ยังจำแนกได้อีก ๓ ประเภทโดยเหตุและคุณ โดยอธิบดีธรรม โดยความปรารถนา โดยความหมดจด และโดยความมุ่งหมายในการประกอบกุศล.

การจำแนกจิตเป็น ๓ ประเภท #โดยแบ่งเป็นหีนะ เป็นต้น กล่าวคือ หีนะ ชั้นต่ำ มัชฌิมะ ชั้นกลาง ปณีตะ ชั้นประณีต. การแบ่งจิตโดยนัยนี้ มีเหตุแห่งการจำแนกหลายแนวทาง คือ

๑. โดยเหตุและโดยคุณ
หีนะ จิตชั้นต่ำ คือ จิตที่ต่ำกว่าพวกมัชฌิมะและปณีตะ โดยปัจจัย และ โดยผล, อีกอย่างหนึ่ง ต่ำกว่ามัชฌิมะและปณีตะโดยคุณของจิตพวกนั้น
ปณีตะ จิตชั้นประณีต คือ จิตที่นำไปสู่ความเป็นประธาน (คือเป็นเลิศ) โดยปัจจัยท.ของตน
มัชฌิมะ จิตชั้นกลาง คือ จิตที่ตกอยู่ในท่ามกลางของหีนะและปณีตะ เหล่านั้น

๒. โดยอธิบดีมีฉันทะเป็นต้น
หีนะ คือ จิตที่ถูกฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่เป็นอย่างต่ำให้เป็นไป
มัชฌิมะ คือ จิตที่ถูกฉันทะ ... วิมังสา ที่เป็นอย่างกลางให้เป็นไป
ปณีตะ คือ จิตที่ถูก ฉันทะเป็นต้น ที่เป็นอย่างประณีตให้เป็นไป.
อนึ่ง ความเป็นอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างประณีตของฉันทะเป็นต้นเหล่านั้น เกิดจากอธิมุตติที่ต่ำ เป็นต้น กล่าวคือ เมื่ออธิมุตติต่ำ ฉันทะเป็นต้นก็ต่ำ เมื่อฉันทะต่ำ กามาวจรกุศลจิตที่เกิดด้วยฉันทะที่ต่ำ จึงชื่อว่า หีนะ ชั้นต่ำ เป็นต้น.

๓. โดยความปรารถนา
หีนะ คือ กุศลจิตที่ทำด้วยหวังยศ
มัชฌิมะ คือ กุศลจิตที่ทำด้วยหวังผลบุญ
ปณีตะ คือ กุศลจิตที่ทำโดยอาศัยความเป็นอริยบุคคลด้วยคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า บุญ สาธุชนควรกระทำ.

๔. โดยความหมดจด
หีนะ คือ กุศลจิตที่เป็นไปอย่างแปดเปื้อนด้วยความคิดฝ่ายต่ำมีการยกตนและหลอกลวงผู้อื่นโดยนัยว่า เราเป็นเจ้าแห่งทาน ส่วนผู้อื่นเหล่านี้เป็นทาสแห่งทานเป็นต้น ดังนี้
มัชฌิมะ คือ กุศลจิตที่เป็นไปอย่างไม่แปดเปื้อนโดยประการแห่งหีนะ
ปณีตะ คือ กุศลจิตที่เป็นเหตุใกล้แห่งมรรคผล

๕. โดยความมุ่งหมาย
หีนะ คือ กุศลที่ทำมีภพสมบัติและโภคสมบัติเป็นเหตุ
มัชฌิมะ คือ กุศลที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งวิโมกข์ของตน คือ ความเป็นบารมีเพื่อเป็นสาวกและเป็นปัจเจกพุทธะ.
ปณีตะ คือ กุศลที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งวิโมกข์ของสัตว์ทั้งปวง คือ ความเป็นบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ.

การจำแนกกามาวจรกุศลจิตอย่างนี้ ถือว่าเป็นธรรมใกล้ตัวที่เราท่านต่างได้ประพฤติเป็นประจำ ท่านทั้งหลายจะเลือกให้กุศลของท่านเป็นอย่างไร ก็ตรองตามนี้ดูเถิด

ขออนุโมนทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น