กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กุศล มีธรรมไม่มีโทษซึ่งมีผลที่น่ายินดีเป็นลักษณะ คราวนี้จะขยายความ
คำว่า ธรรมไม่มีโทษ ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีราคะ เป็นต้นที่มีชื่อว่า โทษ ในที่นี้ เกิดร่วมกับตน
คำว่า มีผลที่น่ายินดี ได้แก่ วิบาก ที่เรียกกันในทางวิชาการพระอภิธรรมว่า นามขันธ์ ๔ ฝ่ายที่น่ายินดี เป็นผลของตน.
ท้้งสองความหมายนี้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของกุศล ทั้งนี้โดยเหตุที่ตนไม่ประกอบด้วยโทษที่จะเป็นเหตุให้เกิดความไม่น่ายินดี จึงมีผลอันเป็นวิบากนามขันธ์ ๔ ฝ่ายดี.
ข้อน่ารู้ จากอภิธัมมัตถวิกาสินี ฎีกาอภิธัมมาวตาร.
ความมีอิฏฐผลของกุศล เป็นไปโดยที่ตนมีสภาพเช่นนั้น, ไม่ใช่เป็นเพราะตนมีอิฏฐผลโดยแน่นอนเสมอไป. (ข้อนี้หมายถึง อภิญญากุศลที่ไม่ให้วิบาก)
#ปัญหาน่าสงสัย
คำว่า กุศลมีธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะ คัมภีร์ฎีกาท่านตั้งข้อสังเกตให้นักศึกษาช่วยตอบให้หน่อย
ถาม ในคำจำกัดความที่ได้กล่าวว่า “กุศล มีธรรมที่ไม่มีโทษซึ่งมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะ” มีข้อน่าสงสัยว่า มีกุศลสองอย่างใช่ไหม คือ กุศลอย่างหนึ่งที่เป็นธรรมไม่มีโทษ และ มีกุศลอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธรรมไม่มีโทษ เช่นกันมาเป็นลักษณะอีก อย่างนี้แสดงว่า เอาตัวเองมาเป็นลักษณะของตัวเองได้หรือ
แม้ว่า กุศล ก็คือ ธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนาอยู่แล้ว แต่ท่านยังนำธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนาเหมือนกันมาเป็นลักษณะของกุศลซึ่งเป็นธรรมอันเดียวกันนั่นเอง ก็เพราะเหตุว่า ต้องการให้ทราบถึงการสมมุติธรรมอย่างเดียวกันให้เป็นสองอย่างโดยความเป็นลักขิตัพพะ สิ่งที่ถูกสังเกต และลักขณะ คุณลักษณะอันเป็นเครื่องสังเกต.
คำว่า กุศล เป็นลักขิตัพพะ คำว่า ธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนา เป็นลักขณะ.
คำว่า กุศล เป็นคำศัพท์ที่ไม่รู้วจนัตถะ คำว่า ธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนา เป็นคำศัพท์ที่รู้วจนัตถะ
(หมายความว่า กุสล ศัพท์ ไม่ได้เป็นวจนัตถะที่ทำไว้เพื่อให้รู้ถึงสภาวะที่เป็นกุศล, อนวชฺชอิฏฐวิปาก ศัพท์เป็นวจนัตถะที่ทำไว้เพื่อให้รู้สภาวะอันเป็นกุศลนั้น)
ทั้ง กุศล ก็ดี ธรรมไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนา ก็ดี ล้วนเป็นคำศัพท์ที่แสดงถึงกุศลธรรมเดียวกันนั่นเอง แต่ถูกจำแนกเป็นสองโดยการสมมุติให้ต่างกัน โดยประเภทวจนัตถะสองอย่างที่มีอยู่ในคำว่า กุสล ที่หมายถึงสภาวธรรมอันเป็นกุศล นั้น
.
วันนี้ยุติไว้เพียงเท่านี้
ขออนุโมทนา
สมภพสงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น