#๖๕อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )
ทุกคำศัพท์ที่ใช้สื่อความหมาย ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิด. ก็เหตุที่ทำให้ศัพท์นั้นเกิด เรียกว่า สัททัปปวัตตินิมิต แปลว่า เหตุแห่งความเป็นไปของศัพท์ ได้แก่ คำนิยามสั้นๆ ของคำศัพท์ ที่เคยกล่าวมาแล้วนั้น. แม้คำศัพท์ว่า กามาวจร ก็มีเหตุดังกล่าวเหมือนกับทุกศัพท์ ในเรื่องนี้ การท่องเที่ยวไปตลอดกาลโดยส่วนมากในกาม เป็นเหตุแห่งการตั้งชื่อว่า กามาวจร, นอกจากนี้ ยังมีเหตุอย่างอื่น คือ
๑๙. ปฏิสนฺธิํ ภเว กาเม, อวจารยตีติ วา;
กามาวจรมิจฺเจวํ, ปริยาปนฺนนฺติ ตตฺร วาฯ
๑๙. อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกไว้อย่างนี้ไว้ว่า “กามาวจร” เพราะอรรถว่า ยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในภพอันเป็นกาม (คือ ในกามภพ). (นี้เป็นเหตุที่ ๒)
อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกไว้อย่างนี้ว่า “กามวจร” เพราะอรรถว่า นับเนื่องในกามาวจรนั้น. (นี้เป็นเหตุที่ ๓)
----------------------------
บรรดาเหตุสองอย่างนั้น การทำให้ปฏิสนธิเป็นไป ก็คือ การส่งผลที่ทำให้สัตว์เกิดในกามนั้น. ในกรณีนี้ ถึงกามาวจรจิตนี้ จะเป็นไปในภพใดๆ ก็ตาม ก็ยังทำให้ปฏิสนธิเป็นไปเฉพาะในกามภพเท่านั้น หมายความว่า ถึงจะเป็นไปในรูปภูมิหรืออรูปภูมิบ้าง เมื่อคราวจะส่งผล ก็ย่อมให้จิตเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแม้แก่รูปพรหมเป็นต้นในรูปภูมิเป็นต้นนั้น มาปฏิสนธิถือกำเนิดในกาม กล่าวคือ ประเทศ ๑๑ อย่างนี้เท่านั้น. ด้วยเหตุนี้แหละ จิต ๘ ดวงนี้ จึงชื่อว่า กามาวจร เพราะทำปฏิสนธิให้เป็นไปในกามภพเท่านั้น.
ด้วยนิยามนี้ คำศัพท์ว่า “กามาวจร” ก็เกิดจากการนำคำว่า กาม + อวจาร มารวมกัน โดยคำว่า อวจาร แปลว่า ทำให้เป็นไป หรือ เป็นเหตุให้เป็นไปในกาม แล้วแก้ไขคำศัพท์ให้เป็น อวจร ต่อมานำมารวมกันเป็นคำวา กามาวจร มีความหมายว่า ทำปฏิสนธิหรือเป็นเหตุให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม ฉะนี้แล
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น