วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖๑ : เหตุผลในการที่ ๑๑ แห่งนี้ชื่อว่า กามาวจร เท่านั้น นัยที่ ๒

#๖๑อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : เหตุผลในการที่ ๑๑ แห่งนี้ชื่อว่า กามาวจร เท่านั้น  นัยที่ ๒

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

นอกจากเหตุผลที่ว่ามานั้น ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งของการได้ชื่อว่า กามาวจร ของ ๑๑ แห่งนี้

ในคัมภีร์มหานิทเทส ได้แสดงตัณหา โดยจัดเป็นชุดตัณหา ๒ ชุด คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ชุดหนึ่ง, กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา และนิโรธตัณหา (ราคะที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ คือ  ความยินในความดับ ชื่อว่า นิโรธตัณหา. #อรรถกถามหานิทเทส. ด้วยคำนี้แสดงว่า วิภวตัณหาและนิโรธตัณหา เป็นอันเดียวกัน  คือ ความยินดีพอใจในความขาดสูญ. ดังนั้น นิโรธตัณหา ไม่ใช่ ความยินดีในนิโรธที่เป็นชื่อของนิพพาน.) โดยเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า กาม.

ท่านผู้สนใจในการค้นคว้า เมื่อตรวจดูข้อความดังที่ได้อ้างนี้ ในคัมภีร์บาฬีมหานิทเทส ขุททกนิกาย กามสุตตนิทเทส (๒๙/๑๔) ก็จะพบว่า ท่านจับเอาตัณหาทั้งหมดดังกล่าวรวมไว้ในคำว่า ตัณหาอันมีชื่อว่า วิสสัตติกา (ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์)  โดยนัยว่า  ผู้ใดละกามได้ ผู้นั้น ชื่อว่า เว้นขาดจากตัณหาที่ซ๋านไปในอารมณ์. (ตัณหา ที่ซ่านไปในอารมณ์) ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดมาก ฯลฯ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา,  กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา นิโรธตัณหา เป็นต้น.  ดังนั้น คำว่า กาม ก็รวมเอารูปตัณหา อรูปตัณหา ผนวกเข้าไว้ด้วย แม้วัตถุทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม ก็เหมือนกัน ก็รวมเข้าไว้ในวัตถุกาม ดังที่ได้แสดงมาแล้วในครั้งที่ #๕๓อภิธัมมาวตาราวตาร

กามทั้ง ๒ อย่างทุกอย่างทุกประเภททั้งสิ้นไม่เหลือ อันหมายถึง กามตัณหา รูปตัณหา เป็นต้นและ กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรมเป็นต้น  ที่มาในคัมภีร์นิทเทสนี้แหละที่คัมภีร์อภิธัมมาวตารท่านได้อ้างอิงไว้ด้วยคำว่า “ #กามทั้งสองอย่างแม้นี้นั้น ”.  ซึ่งก็หมายความว่า กามทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกิเลส และวัตถุ ในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ก็เป็นไปในคำว่า กามาวจร นี้เองนั่นแหละ.

ท่านทั้งหลาย แม้จะได้แสดงอย่างนี้ไว้ ก็ใช่ว่า จะหมายถึง กามเหล่านั้นทั้งหมด สามารถเป็นไปใน๑๑ ประเทศนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกำกับคำว่า “  #ด้วยอำนาจแห่งความถึงพร้อม ” เอาไว้ ด้วยหวังจะให้เกิดความเข้าใจว่า ที่จริง กามราคะเท่านั้น ที่จัดเป็นอย่างหยาบ ที่หนาแน่น ที่มีมาก เรียกว่า กิเลสกาม และ กามคุณ ๕ ที่เป็นที่ตั้งของกามราคะเหล่านั้นเท่านั้น จีงเรียกว่า วัตถุกาม ในเรื่องนี้. 

ดังนั้น คำว่า ความถึงพร้อม ในความหมายนี้ หมายถึง ความสำเร็จ หรือ มีขึ้น ปรากฏขึ้น. คือ กามคู่นี้ที่สำเร็จ มี หรือ ปรากฏใน ๑๑ ประเทศ นี้ ได้แก่ กามราคะ หรือที่เรียกว่า ฉันทราคะ และ กามคุณ ๕ ที่เรียกว่า เตภูมกวัฏฏะ อันเป็นไปกับด้วยวัฏฏะในภูมิ ๓ เท่านั้น.

จะเห็นได้ว่า กุญแจสำคัญที่ไขความพิสดารตรงนี้ คือ คำว่า “ ความถึงพร้อม” ที่หมายถึง ความสำเร็จ มีขึ้น หรือ ปรากฏขึ้นนั่นเอง ที่จะสื่อถึงความเป็นไปเท่าที่จะเป็นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด.

กาม ๒ อย่างนี้เป็นไปใน ๑๑ ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยอำนาจแห่งความเข้าถึงร่วมกันและกันโดยความเป็นอารมณ์และธรรมรู้อารมณ์ หรือ จะเป็นด้วยอำนาจแห่งการปรากฏขึ้น ก็ตาม,  เพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ๑๑ ประเทศนี้ จะมีชื่ออะไร ติตตามต่อคราวหน้า วันนี้เวลาหมด ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น